ประวัติศาสตร์ปฏิทินโลก

473 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ประวัติศาสตร์ปฏิทินโลก

ปฏิทิน

ปฏิทิน คือระบบที่ใช้ในการเรียกชื่อช่วงระยะเวลา เช่น วัน เป็นต้น วันจะขึ้นอยู่กับการเคลื่อนที่วัตถุทางดาราศาสตร์ เราสามารถแสดงปฏิทินได้ในหลายรูปแบบ ส่วนมากมักเป็นกระดาษ เช่น แบบฉีก แบบแขวน แบบตั้งโต๊ะ เป็นต้น

ประวัติ

คำว่า ปฏิทิน ในภาษาอังกฤษ คือ "calendar" เป็นคำที่มาจากภาษาลีลา ซึ่งนำมาจากคำพูดของชาวกรีกโบราณอีกที ว่า "Kalend" ซึ่งมีความหมายในภาษาอังกฤษว่า "I cry" สาเหตุที่ใช้คำนี้เพราะมีที่มาว่า ในสมัยโบราณจะมีคนคอยร้องบอกชาวเมือง เพื่อบอกกล่าวเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นล่วงหน้า รวมถึงประกาศวันขึ้นเดือนใหม่ เพื่อให้ลูกหนี้จ่ายเงินที่คั่งค้าง ครั้นต่อมาสังคมเริ่มสลับซับซ้อนมากขึ้น ปฏิทินจึงได้ถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อแทนคนร้องบอกข่าว ปฏิทินจึงนับว่าเป็นสิ่งบอกเวลา และกลายเป็นสิ่งสำคัญในวิถีชีวิตประจำวันไปในที่สุด ต่อมามนุษย์จึงได้ริเริ่มบันทึก วัน เวลา ขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษร หรือที่เรียกกันว่า "ปฏิทิน"

ปฏิทินยุคโบราณ

จากหลักฐานทางโบราณคดีที่ค้นพบในปัจจุบัน เชื่อกันว่าชนชาติแรกที่คิดค้น ระบบการนับวันแบบปฏิทินนั้นคือ ชาวบาบิโลเนียน พวกเขากำหนดวัน เดือน ปี โดยสังเกตจากระยะต่างๆ ของดวงจันทร์ ซึ่งก็คือการสังเกตข้างขึ้นข้างแรมนั่นเอง โดยเมื่อเกิดข้างขึ้นและข้างแรมครบ 1 รอบก็จะถือเป็น 1 เดือน ปฏิทินแบบนี้เรียกว่าปฏิทินจันทรคติ และพวกเขายังกำหนดให้ 1 ปีนั้นมี 12 เดือนอีกด้วย สาเหตุที่ชาวบาบิโลเนียนกำหนดให้ 1 ปี มี 12 เดือน ก็เพราะว่า เมื่อใดที่เกิดข้างขึ้นและข้างแรมครบ 12 รอบ ฤดูกาลก็จะเวียนกลับมาอีกครั้ง

อาณาจักรข้างเคียงก็ได้ยอมรับเอาปฏิทินของชาวบาบิโลเนียมาใช้ในอาณาจักรตนเอง เช่น ชาวอียิปต์โบราณ ชาวกรีก และชาวเซเมติก เป็นต้น เมื่อพัฒนาการทางเทคโนโลยีมีมากขึ้น ชนชาติที่นำเอาปฏิทินแบบบาบิโลเนียนไปใช้นั้น ก็ได้ทำการปรับปรุงและพัฒนาให้มีความเที่ยงตรงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวอียิปต์โบราณ ที่พัฒนาแนวคิดเรื่องปฏิทินได้อย่างรุดหน้ามากที่สุด แต่เดิมชาวโรมันกำหนดให้ 1 ปี มี 355 วัน (ตามระบบจันทรคติ) และทุก ๆ 4 ปี (ปีอธิกวาร) ต้องเพิ่มวันเข้าไปอีก 22 วัน เพื่อให้ตรงกับฤดูกาล หรือการคำนวณแบบสุริยคติ) จนกระทั่ง 46 ปีก่อนคริสต์ศักราช จูเลียส ซีซาร์ แห่งจักรวรรดิโรมัน ซึ่งได้เข้าครอบครองอียิปต์ ในรัชสมัยของพระนางคลีโอพัตรา ได้นำแนวคิดของนักดาราศาสตร์ชาวอียิปต์ชื่อ โซซิเจเนส (Sosigenes) มาปรับปรุงให้หนึ่งปีมี 365 วัน ปฏิทินแบบนี้เรียกว่าปฏิทินจูเลียน ซึ่งใช้กันมายาวนานจนถึง ค.ศ. 1582 จึงมีการแก้ไขอีกครั้งหนึ่ง

ปฏิทินยุคปัจจุบัน

เนี่องจากการที่ต้องเพิ่มวันเข้าไปในปฏิทิน 1 วัน ในทุกๆ 4 ปี ทำให้ในสมัยต่อๆ มาเกิดความสับสนในฤดูกาล กล่าวคือปีปฏิทินสั้นกว่าปีฤดูกาล ดังนั้นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติต่างๆ จะมาถึงเร็วกว่าปีปฏิทินมากขึ้นทุกปี เช่นใน ค.ศ. 1582 วสันตวิษุวัต (วันที่กลางวันและกลางคืนยาวเท่ากัน) ตามปีปฏิทินเดิมคือวันที่ 21 มีนาคม แต่ปรากฏการณ์นี้กลับเกิดขึ้นจริงในวันที่ 11 มีนาคมแทน เมื่อเป็นเช่นนี้ ศาสนจักรจึงเข้ามามีบทบาทในการแก้ไข พระสันตปาปา เกรกอรี่ที่ 13 ได้ออกประกาศให้หักวันออกจากปีปฏิทินเสีย 10 วัน มีผลทำให้ในปี ค.ศ. 1582 นั้นหลังวันที่ 4 ตุลาคม กลายเป็นวันที่ 15 ตุลาคม แทนที่จะเป็นวันที่ 5 ตุลาคม ในปีอธิกวารให้เพิ่มวันเป็นการชั่วคราว 1 วันในปีถัดไปให้หักออก นอกจากนี้ยังกำหนดให้วันที่ 1 มกราคมของทุกปีเป็นวันขึ้นปีใหม่ และให้เรียกปฏิทินแบบใหม่นี้ว่า ปฏิทินเกรกอเรียน ประกาศนี้มีผลทำให้ยุโรปซึ่งอยู่ใต้การปกครองของศาสนจักร ต้องใช้ปฏิทินแบบเดียวกันตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ปัจจุบัน "ปฏิทิน" ได้รับความนิยมกันอย่างแพร่หลาย นักธุรกิจติดต่อนัดหมายกันผ่าน วัน เวลา ในปฏิทิน นอกจากนี้ปฏิทินยังคอยย้ำเตือนถึง วัน เวลาที่สำคัญต่าง ๆ เช่น วันเกิด วันหยุด เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีปฏิทินที่กำหนดวันสำคัญทางศาสนา ซึ่งจะต้องอาศัยการประกาศอย่างเป็นทางการ เช่น วันเริ่มถือศีลอดเดือนรอมะฎอน วันจาริกแสวงบุญของอิสลามิกชน (ฮัจญ์) และวันอาชูรออ์ เป็นต้น

ชนิดของปฏิทิน

ปฏิทินสุริยคติ

●ปฏิทินเกรกอเรียน
●ปฏิทินสุริยคติไทย
●ปฏิทินจูเลียน
●ปฏิทินญะลาลีย์ (สุริยคติอิหร่าน)
●ปฏิทินของสาธารณรัฐฝรั่งเศส
●ปฏิทินมายา (อเมริกาใต้)

ปฏิทินจันทรคติ

●ปฏิทินจันทรคติไทย
●ปฏิทินจันทรคติราชการ
●ปฏิทินฮิจญ์เราะหฺ (อิสลาม)
●ปฏิทินยิว
●ปฏิทินจันทรคติจีน

ปฏิทินไทยในอดีตประเทศไทยใช้ปฏิทินจันทรคติตั้งแต่สมัยสุโขทัยโดยนับปีตามปีมหาศักราชและจุลศักราชตามลำดับ จนกระทั่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ เปลี่ยนจากปฏิทินจันทรคติมาใช้ปฏิทินสุริยคติ ในปีจุลศักราช 1240 ซึ่งตรงกับปี พ.ศ. 2431 โดยใช้แบบสากลตามปฏิทินเกรกอเรียน โดยเดือนแรกของปีคือเดือนเมษายน และเดือนสุดท้ายของปีคือมีนาคม และปรับมาใช้รัตนโกสินทรศก และพุทธศักราชตามลำดับจนกระทั่งในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้มีการปรับเปลี่ยนปฏิทินอีกครั้งโดยปรับให้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่และเป็นวันเริ่มต้นของปีแทนที่รูปแบบเดิม โดยวันขึ้นปีใหม่ในรูปแบบนี้เริ่มใช้ในปี พ.ศ. 2484

การพิมพ์ปฏิทินมีขึ้นเป็นครั้งแรกในเมืองไทย เมื่อ วันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2385 (ปลายสมัย รัชกาลที่ 3) ต่อมาในรัชกาลที่ 4 ทรงฯโปรดให้พิมพ์ปฏิทินภาษาไทย ในสมัยรัชกาลที่ 5 ปฏิทินที่พิมพ์ในเมืองไทยได้แก่ "ประนินทิน" แจ้งราคาขายไว้เล่มละ 4 บาท การพิมพ์ปฏิทินเล่มยังมีการจัดทำต่อมา ในหลายรูปแบบ ซึ่งมีบอกสถาพของน้ำขึ้น-น้ำลง ดิถีดวงจันทร์ และปฏิทินภาษาจีนร่วมด้วย และมีช่องว่างให้บันทึกเล็กน้อย ในรูปแบบของ ไดอารี่ หรือ "สมุดบันทึกประจำวัน" ก็สามารถอนุโลมให้เป็นปฏิทินได้ โดยไดอารี่ที่มีชื่อเสียงได้แก่ ไดอารี่ของรัชกาลที่ 5 ซึ่งเมื่อตีพิมพ์เผยแพร่มีชื่อเรียกว่า "จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน"

cr.wikipedia

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้